ภาพรวม Goldตลาด 5 กุมภาพันธ์ 2567
6 ก.พ. 2024
ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลงในวันจันทร์ ในขณะที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ โดยปัจจัยแรกคือถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด หลังจากเขากล่าวในรายการข่าว “60 Minutes” ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสที่แพร่ภาพในคืนวันอาทิตย์ว่า เฟดสามารถใช้ “ความรอบคอบ” ในการตัดสินใจว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อใด และเขากล่าวเสริมว่า “การดำเนินการอย่างรอบคอบ ก็คือการให้เวลาอีกระยะหนึ่ง และรอให้ตัวเลขเศรษฐกิจยืนยันว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับลงสู่ 2% อย่างยั่งยืน” ส่วนปัจจัยที่สองคือบทความของนายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสที่ออกมาในวันจันทร์ โดยนายแคชคารีระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่รักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้เป็นอย่างดีอาจจะส่งผลให้มีการเลื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนปัจจัยที่สามคือรายงานของสถาบันจัดการอุปทาน ของสหรัฐในวันจันทร์ที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 50.5 ในเดือนธ.ค. สู่ 53.4 ในเดือนม.ค. ซึ่งสูงกว่าระดับ 52.0 ที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดการณ์กันไว้ ในขณะที่ดัชนีราคาจ่ายสำหรับปัจจัยการผลิตในภาคบริการพุ่งขึ้นจาก 56.7 ในเดือนธ.ค. สู่ 64.0 ในเดือนม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 11 เดือน และปัจจัยที่สี่คือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งเกินคาดที่ได้รับการรายงานออกมาในวันศุกร์ที่แล้ว ทั้งนี้ ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น มีหุ้นเพียง 2 กลุ่มที่ปิดตลาดในแดนบวกในวันจันทร์ ซึ่งได้แก่ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่บวกขึ้น 0.6% และดัชนีหุ้นกลุ่มการแพทย์ที่ปรับขึ้น 0.3% ทางด้านดัชนีหุ้นกลุ่มวัสดุดิ่งลง 2.5% และถือเป็นกลุ่มที่รูดลงมากที่สุดในวันจันทร์ โดยได้รับแรงกดดันจากดิ่งลง 15.6% ของหุ้นบริษัทแอร์ โพรดัคท์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หลังจากแอร์ โพรดัคท์คาดการณ์ผลกำไรปี 2024 ที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในตลาด
ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และจากความกังวลที่ว่าสงครามยูเครนอาจจะส่งผลลบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก โดยในช่วงนี้เทรดเดอร์ยังคงจับตาดูสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สหรัฐวางแผนที่จะโจมตีกลุ่มฮูตีในเยเมน เพื่อตอบโต้ต่อการที่กลุ่มฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง และในตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การเจรจาต่อรองเรื่องการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีความคืบหน้า ทั้งนี้ โดรนสองลำของยูเครนได้โจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของรัสเซียในวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซียจากระยะไกลในช่วงนี้ และการโจมตีดังกล่าวส่งผลให้รัสเซียปรับลดการส่งออกแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับปิโตรเคมีภัณฑ์
ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมี.ค.ปรับขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.7% มาปิดตลาดที่ 72.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับขึ้น 66 เซนต์ หรือ 0.9% มาปิดตลาดที่ 77.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนในวันจันทร์ ในขณะที่เทรดเดอร์ปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ในปีนี้ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้ สถาบันจัดการอุปทาน ของสหรัฐรายงานในวันจันทร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 50.5 ในเดือนธ.ค. สู่ 53.4 ในเดือนม.ค. ซึ่งสูงกว่าระดับ 52.0 ที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดการณ์กันไว้ และดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 ก็บ่งชี้ถึงการเติบโต ในขณะที่ภาคบริการครองสัดส่วนสูงกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ โดยภาคบริการได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของยอดสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานในภาคบริการก็เติบโตขึ้นด้วย โดยดัชนียอดสั่งซื้อใหม่ในภาคบริการพุ่งขึ้นจาก 52.8 ในเดือนธ.ค. สู่ 55.0 ส่วนดัชนีการจ้างงานภาคบริการดีดขึ้นจาก 43.8 ในเดือนธ.ค. สู่ 50.5 ในเดือนม.ค. โดยรายงาน PMI นี้บ่งชี้ว่าแรงหนุนส่งทางเศรษฐกิจในไตรมาสสี่ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นปีนี้
ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.46 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 103.97 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 104.60 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2023
ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 148.67 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยปรับขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 148.37 เยน หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 148.89 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2023
ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐร่วงลง 13.92
ดอลลาร์ สู่ 2,024.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ หลังจากดิ่งลงแตะ 2,013.70 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งเกินคาดในวันศุกร์ที่ผ่านมา และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายจิม วิคคอฟ นักวิเคราะห์ของบริษัทคิทโค เมทัลส์ระบุว่า ราคาทองน่าจะยังคงเคลื่อนตัวอยู่เหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ได้ต่อไป โดยได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
Reuters
โดย Keniso Author